Saturday, November 3, 2012

อนุบาล' กับการเรียนรู้เรื่องพอเพียง

'อนุบาล' กับการเรียนรู้เรื่องพอเพียง



ประกวด กิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัย-สื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนุนเด็กอนุบาลรู้เรื่อง "พอเพียง"

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สถาบันวิจัยการเรียนรู้ ร่วมกับ คณะทำงานบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน จัดการประกวด “กิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาระดับปฐมวัยทั่วประเทศ ได้สร้างสรรค์กิจกรรมบูรณาการสำหรับเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2546 พร้อมสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลงานเข้าประกวด

ซึ่งในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงเรียนอนุบาลจะได้โชว์ผลงานความคิดสร้างสรรค์ บูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมได้อย่างผสมกลมกลืน และเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า “เด็กอนุบาลก็เรียนรู้เรื่องความพอเพียงได้เช่นกัน”

สำหรับการจัดประกวดกิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้แม้จะเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับอนุบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 223 โรงเรียน นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่โรงเรียนในระดับอนุบาลได้มีการตระหนักและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

ส่วนการจัดประกวดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นรอบชิงชนะเลิศ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการคัดเลือกโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละภูมิภาคๆ ละ 1 โรงเรียน รวมเป็น 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง) จ.สมุทรสาคร, โรงเรียนมารีวิทยา จ.ปราจีนบุรี, โรงเรียนแก่นจันทร์วิทยา จ.เพชรบุรี, โรงเรียนบ้านท่าคุระ จ.สงขลา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ยุหว่า จ.เชียงใหม่ มานำเสนอผลงาน เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 50,000 บาท

สรุปผลการคัดเลือก เป็นดังนี้

โรงเรียนแก่นจันทร์วิทยา จังหวัดเพชรบุรี เรื่อง “มารักษาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 50,000 บาท

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ยุหว่า จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง “เมล็ดข้าวสีทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 พร้อมถ้วยรางวัลและเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท

โรงเรียนมารีวิทยา จังหวัดปราจีนบุรี สื่อและกิจกรรมเรื่อง “ไม้ไผ่มหัศจรรย์” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมถ้วยรางวัลและเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท

โรงเรียนบ้านแผ้ววิทยา (ตี่ตง) จังหวัดสมุทรสาคร สื่อและกิจกรรมเรื่อง ประโยชน์ของพืช “พอเพียงแบบกล้วยกล้วย” และโรงเรียนท่าคุระ จังหวัดสงขลา สื่อและกิจกรรมเรื่อง “ลูกตาลบ้านเรา” ได้รับรางวัลชมเชยพร้อมโล่รางวัล และเงินรางวัลโรงเรียนละ 5,000 บาท และโรงเรียนที่ได้รับรางวัล “กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น” คือโรงเรียนบ้านดงเสลา จังหวัดกาญจนบุรี สื่อและกิจกรรมเรื่อง ขนมพื้นบ้าน “หมี่สิ” ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 3,000 บาท

อาจารย์สิรินดา ชินแสงทิพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแก่นจันทร์ วิทยา จังหวัดเพชรบุรี เปิดใจถึง การได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ว่า

“เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคณะครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปกรองและคนในชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง มารักษาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งมีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนคือ ชายทะเลชะอำ

"วัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าวคือ ต้องการให้เด็กตระหนัก และเห็นความสำคัญ พร้อมที่จะร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนโดยได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรมหลักทั้ง 6 กิจกรรม และเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้มากที่สุด

"ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมนอกเหนือจากรางวัลอันทรงเกียรตินี้แล้ว คือ เด็กของเราได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มากที่สุด ไม่เพียงแต่เด็กรู้จักความพอเพียงในบริบทที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เท่านั้น เขายังสามารถนำสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาไปบอกต่อกับผู้ปกครองของเขาให้เข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านเอกสารแผ่นพับที่พี่ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ช่วยน้องทำ ในโครงการพี่ช่วยน้องอีกด้วย”

การจัดประกวดกิจกรรมบูรณาการระดับปฐมวัยและสื่อประกอบการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้ ไม่เพียงจะก่อเกิดความภาคภูมิใจให้แก่ โรงเรียน ครู อาจารย์ นักเรียน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในวงการการศึกษาระดับอนุบาลที่จะหันมาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความพอเพียงให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันใจที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วันนี้และจะคงอยู่เรื่อยไปจนถึงอนาคต

No comments:

Post a Comment